ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวแทนนำคนราชบุรีจำนวนหนึ่ง แสดงจุดยืนคัดค้านข้อเรียกร้องของ กลุ่มผู้ชุมนุม “บ้านโป่งไม่อินเผด็จการ” พร้อมให้ทางรัฐบาลดำเนินคดีกับผู้กระทำ ความผิด โดยใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เคร่งครัด
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้เดินทางมาที่ สํานักงานข้าราชการพลเรือน เพื่อเข้ายื่นหนังสือ กับนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยกลุ่มคน ที่ร่วมอุดมการณ์ จำนวนหนึ่ง ใช้ชื่อว่า ลูกโพธารามจะไม่ทนคนเนรคุณแผ่นดิน พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ ใน 3 ข้อเรียกร้องคือ
- ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มบ้านโป่งไม่อินเผด็จการ ที่มีลักษณะการชุมนุมและข้อเรียกร้อง เหมือนกับกลุ่มคณะราษฎร ที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้งดใช้คำว่า บ้านโป่ง เพราะเป็นการทำให้คนราชบุรีเสียหาย ถือเป็นความอัปยศอย่างยิ่ง
- ขอให้ทางรัฐบาล เร่งดำเนินคดี กับผู้ที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะมีการกระทำที่จาบจ้วง ไม่สมควรอย่างยิ่ง และทำอย่างต่อเนื่อง เป็นความเสียหาย เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งในตอนนี้ เหมือนกับว่าไม่มีใครเกรงกลัวหมายแล้ว
- ขอให้กลุ่มบ้านโป่งไม่อินเผด็จการ รวมถึงแกนนำม็อบนักศึกษา ที่ละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับตัวกลับใจ มิเช่นนั้นจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
ต้องเคารพกฎหมาย
ปารีณายังฝากถึงคนที่ออกมาชุมนุม เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ว่า ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเคารพในกฎหมาย ต้องยอมรับ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น หากผู้ที่ออกมาชุมนุมเป็นนักประชาธิปไตยตัวจริง ก็ควรรับฟังกัน โดยเฉพาะสถาบันสูงสุดของประเทศ เป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับกฎหมายมาตรา 112 พร้อมทั้งยืนยันว่า เป็นกฎหมายที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อป้องกันสถาบัน ผู้นำของแต่ละประเทศ
เมืองพระราชา
พร้อมทั้งมีความเชื่อมั่นว่า คนจังหวัดราชบุรีเป็นคนของพระราชา จังหวัดราชบุรีเป็นเมืองของพระราชา และกลุ่มที่ออกมาชุมนุมต่อต้านเผด็จการ เป็นเพียงแค่คนไม่กี่คนเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้นางสาวปารีณา ยังได้ไปยื่นหนังสือต่อผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นประจำประเทศไทย เพื่อเป็นการคัดค้าน การก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย
ตามจิกหุกที่
ปารีณาไกรคุปต์ยังยืนยันว่า ไม่ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมคณะราษฎร 63 รวมไปถึงกลุ่มแนวร่วมคนอื่นๆ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ไหนก็ตาม ตนเองจะตามไปทุกที่ โดยจะมีข้อโต้แย้งว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นไปด้วยความสงบ สันติหรือปราศจากอาวุธแต่อย่างใด และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมย้ำอีกว่าทั่วโลกทุกประเทศ ล้วนมีกฎหมายลักษณะนี้มั้งสิ้น ในการคุ้มครองประมุขของรัฐ