โพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย กรมราชทัณฑ์ชี้แจงกรณีการโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย และการส่งจดหมายออกนอกเรือนจำของ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ นายอานนท์ นำภา 2 ผู้ต้องหาคดีมาตรา ม.112 ว่ามีการส่งให้บุคคลภายนอกได้อย่างไร และสามรรถโพสต์ลงบนสื่อโซเชียลได้หรือไม่ทั้งๆ ที่ตัวถูกคุมขังในเรือนจำอยู่
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเรื่องนี้ “นายธวัชชัย ชัยวัฒน์” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบ และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดและถี่ถ้วน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างที่นายพริษฐ์ และนายอานนท์ถูกนำตัวขึ้นศาล
ค้นตัวก่อนเข้าเรือนจำ พร้อมกับยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยของผู้ต้องขังทุกครั้ง โดยเฉพาะการตรวจสอบสิ่งของต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้า-ออกเรือนจำ ซึ่งขณะที่ค้นตัวก่อนเข้าเรือนจำในวันดังกล่าว ไม่พบเอกสารหรือจดหมายในตัวของผู้ต้องขังทั้งสองราย
ไม่มีการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ ในเรือนจำ นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า การโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียลมีเดียนั้น ผู้ต้องขังไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ ในเรือนจำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เองก็ไม่สามารถนำเข้ามาในเขตพื้นที่เรือนจำได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ต้องขังทั้งสองจะเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตัวเอง
เขียนฝากผ่านทนายความ จากการสืบทราบมาว่าข้อความดังกล่าวนั้น เป็นการเขียนฝากผ่านทนายความ เพื่อนำไปให้ผู้ที่อยู่นอกเรือนจำเป็นคนนำไปโพสต์ลงสื่อโซเชียล ซึ่งเรื่องแบบนี้ใครก็สามารถทำได้ เพราะเจ้าของเพจสามารถกำหนดสิทธิ์ให้ผู้ดูแล หรือแอมินเป็นคนทำหน้าที่โพสต์ข้อความดังกล่าวแทนตัวเจ้าของเพจเฟซบุ๊กนั้น
ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอาญา ต่อข้อถามถึงเรื่องการย้ายตัว นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ไปคุมขังที่สถานกักขังกลาง จ.ปทุมธานี โดย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการย้ายที่คุมขังของนายพริษฐ์นั้น เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอาญา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 22 มี.ค. โดยให้กักขังเป็นเวลา 15 วัน จากเดิมที่ตัดสินเป็นเวลา 1 เดือน
ส่งไปรับโทษ โดยได้นำตัว นายพริษฐ์ ส่งไปรับโทษกักขังยังสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีในวันเดียวกัน จากเดิมที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ใช่สถานที่กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจบังคับโทษกักขังตามคำพิพากษาของศาลได้
หากนายพริษฐ์ได้รับโทษกักขังครบตามคำพิพากษาของศาล 15 วันแล้ว ก็จะต้องส่งตัวกลับมาคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามเดิม เพื่อรอการพิจารณาคดีอื่นที่ยังคงเหลืออยู่
ต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ต่อข้อถามถึงประเด็นการย้ายตัวนักโทษในตอนกลางคืนนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถทำได้หรือไม่ ด้าน รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม และเป็นงานลักษณะพิเศษที่ต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับหมายศาลมาเวลาใด เจ้าหน้าที่ต้องรีบดำเนินการในทันทีให้ถูกต้องตามระเบียบ
ย้ายผู้ต้องขัง อย่างกรณีย้ายตัว นายพริษฐ์ ไปสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีในเวลากลางคืนนั้น เนื่องจากได้รับหมายศาลมาเวลานั้นก็กระทำการย้ายทันที ถือเป็นเรื่องปกติของงานราชทัณฑ์ โดยขั้นตอนการดำเนินการทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับจนกว่าจะมีการดำเนินการแล้วเสร็จ รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยระหว่างขนย้ายผู้ต้องขังด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถแจ้งญาติหรือบุคคลภายนอกให้ทราบล่วงหน้าได้
เครดิตภาพ : www.bbc.com, แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////