ปี 2564 ไทยต้องเผชิญ3ปัญหาผันผวน
ประเทศไทยในปี 2564 ไม่อาจหลีกเลี่ยง และ ยังต้องเผชิญกับ 3 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาการเมือง ซึ่งทั้ง 3 ปัญหาจะยังดำรงอยู่ เพียงแต่ละระดับความร้อนแรงของปัญหา อาจมีรายละเอียดและระดับที่แตกต่างกันไปจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก อย่างน้อยทุกประเทศในโลก ก็ยังต้องเจอ 2 ปัญหาหลักเหมือนๆ กัน นั่นคือ ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา ส่วนปัญหาการเมืองอาจมีในบางประเทศเท่านั้น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เราต้องย่อมรับว่ายังเป็นที่รอแก้ไขอยู่
ปี 2564 ประกันรายได้เกษตรกร ใน 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย และ ข้าวโพด ปีที่ 2 ปีการผลิต 2563/64 ครอบคลุมจำนวนเกษตรกร 7.67 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 75,017.66 ล้านบาท ได้แก่ ข้าว 23,495 ล้านบาท 4.5 ล้าน ครัวเรือน โดยราคาประกัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ปาล์มน้ำมัน วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท 3.7 แสนครัวเรือน ผลปาล์มทะลาย (18%) กก.ละ 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ มันสำปะหลัง วงเงิน 9.8 พันล้านบาท 5.2 แสนครัวเรือนหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน ยาง วงเงิน 31,013.27 ล้านบาท 1.83 ล้านครัวเรือน ราคาประกัน ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด DRC 100% กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย DRC 50% กก.ละ 23 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป และเปิดกรีดแล้ว โดยเจ้าของสวนได้ 60% คนกรีดได้ 40% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 1.9 พันล้านบาท 4.5 แสนครัวเรือน กก.ละ 8.50 บาท ณ ความชื้น 14.5% ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่
โควิดชี้ชะตาอัตราเติบโตศก.
ด้านเศรษฐกิจปี 2564 ทุกสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจ ต่างมีมุมมองที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินเศรษฐกิจโลกขยายตัวเกิน 5% รวมถึงมองเศรษฐกิจก็เป็นบวก (4-5%) หรืออย่าง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินเศรษฐกิจไทยเป็นบวก (3.5-4.5%) ตามแรงกระตุ้นของภาครัฐ ผ่านการใช้งบประมาณ มาตรการกระตุ้นการบริโภค เช่น ผลที่ทำมาก่อนหน้านี้ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนจัดสินค้าสินค้าซึ่งต่อเนื่องมาแล้ว 8 ล็อตสามารถลดภาระใช้จ่ายประชาชนหลายพันล้านในปีก่อน ยังมีเรื่องประกันรายได้ซึ่งเป็นการเติมเงินให้เกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก เมื่อรายได้เกษตรกรดีขึ้นก็นำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียน
ใช้จ่ายภาครัฐแม่เหล็กพยุงจีดีพี
มักจะเกิดคำถามว่า ปี 2564 มีอะไรที่จะเป็นขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปต่อ สำหรับประเทศไทย อันดับแรก คือ แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ดังนั้น ภาครัฐก็ต้องเร่งรัดงบประมาณผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ ให้ได้ตามแผนงาน ยิ่งเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้แล้ว การจับจ่ายภาคเอกชนและภาคประชาชนก็จะคล่องในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องเร่งรัดนำรายได้เข้าประเทศ ทั้งภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว รวมถึงภาคลงทุน แต่ในช่วงต้นๆ ของปีนี้ เราคงต้องพึ่งพาแรงขัดเคลื่อนจากภาครัฐบาล เป็นกลไกสำคัญ รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญ ทุกกระทรวงก็เตรียมหามาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง
เมื่อทิศทางว่าประเทศไทยจะเดินหน้าด้วยการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ภารกิจหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ คือ เดินหน้าลดค่าครองชีพและลดภาระประชาชน และธุรกิจ ยอมรับว่าผลกระทบจากโควิด-19 จากปีก่อนยาวมาถึงปีนี้ ส่งผลต่อรายได้ประชาชนติดขัด ช่วงโควิดระบาดกระทบแรงงานตกงาน คนว่างงานตัวเลขยังสูง เป็นประเด็นน่าห่วง ไม่แค่ไทยทั่วโลกก็เหมือนกัน ดังนั้น เราจะเดินหน้าออกมาตรการลดค่าครองชีพ โครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ที่ทำมาแล้ว 8 ล็อต ก็จะเดินหน้าต่อทั้งปี หรือจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาจะหมดลง ภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายให้ความร่วมมือดีมาก ลดราคากันถึง 80-90% นั่นคือ เรามีเงิน 10 บาท ก็เหมือนได้สินค้า 90 บาท หรือ มีเงิน 20 บาทก็ซื้อสินค้าราคา 100 ได้
โครงการประกันรายได้ช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าเกษตรกร ถ้าราคาพืชผลทางการเกษตรตกกว่าเกณฑ์ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าเข้มข้นภายใต้แนวคิดเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด เป็นยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต ที่ร่วมกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ ถือว่า ประสบความสำเร็จตามสมควรในปี 2563 ดูจากภาพรวมราคาพืชเกษตร ปีก่อน พบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีเกือบทั้งหมด ราคาผลไม้ พืชเกษตรหลายตัว ราคากระเตื้อง เช่น ยางพารา ทะลุเพดานประกันรายได้กำหนดที่ 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยาง 55-56 บาท/กิโลกรัม ใกล้เพดานราคาประกันรายได้ที่ 57 บาท ยางถ้วย 21-23 บาทเท่าราคาประกันรายได้ ส่วนราคาปาล์มน้ำมันเกินเพดานแล้วถึง 7 บาท อาจมีราคาข้าวเปลือกแตะหมื่นบาทต่อตันในรอบ 10 ปี ปีนี้ราคาอาจอ่อนตัวลงบ้าง แต่รัฐก็มีการเติมเงินผ่านประกันรายได้ ผลไม้เราก็ได้ทำแผนล่วงหน้าไว้สำหรับหน้าร้อนนี้ ซึ่งในภาวะอย่างนี้เราจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น
-การค้าระหว่างประเทศยิ่งเข้มข้น
ปี 2564 การค้าระหว่างประเทศ จะเข้มข้นมากขึ้น เรื่องแรก คือ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกำกับดูแลด้านส่งออก หากย้อนกับไปดูตัวเลขส่งออกปลายไตรมาส 3 ปี 2563 ก็จะพบว่า แนวโน้มการขยายตัวของการส่งออก ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราติดลบลดลง ถ้าดูตัวเลขเดือนมิถุนายน 2563 ติดลบสูงถึง 23% กรกฎาคมลบเหลือ 11% เดือนสิงหาคมเหลือลบ 7% เดือนกันยายนเรื่อยมา ลบ 3-4% ถือว่าตัวเลขส่งออกฟื้นตัวรูป “ยู เชฟ” ทำให้ทั้งปี 2563 ติดลบไม่เกิน 7% จากตัวเลขอย่างเป็นทางการ 11 เดือนแรกปี 2563 ติดลบ 6.9% ปัจจัยสำคัญคือกระทรวงพาณิชย์ ทำงานร่วมเอกชน อย่างใกล้ชิด ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐ-เอกชน พาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ที่ผมได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีก่อน เมื่อมีปัญหาไม่ว่าอะไร หรือ แม้จากโควิด-19 ระบาด ก็ได้หารือและนำไปสู่การปรับตัวได้เร็ว แม้เดินทางไปขายสินค้าหรือโรดโชว์ในต่างประเทศไม่ได้ แต่ได้สร้างกลไกเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ ที่มีพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เป็น หัวหอก สำคัญ ร่วมกับเอกชน ปีนี้ก็จะยังเดินหน้าต่อ