ต้มยำกุ้ง คณะรัฐมนตรี เห็นชอบเสนอ ต้มยำกุ้ง ภายใต้ชื่อ Tomyum Kung ส่งขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ซึ่งมีคุณค่าครบทั้งด้านธรรมเนียมสืบทอดในครัวเรือน รวมถึงสะท้อนวัฒนธรรมการกินของคนไทย
ตัวแทนมรดกวัฒนธรรม โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่วธ. เสนอให้ ต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกแล้ว 2 รายการ คือ โขนและนวดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2561 และ ปีพ.ศ. 2562 ขณะที่ โนรา และ สงกรานต์ในประเทศไทย ที่เสนอไปก่อนหน้านั้นแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก
เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก นายอิทธิพล กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมเห็นความสำคัญของ ต้มยำกุ้ง ที่ถือเป็นอาหารประจำชาติที่ขึ้นชื่อ และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก รวมถึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารอย่างเรียบง่าย พึ่งพิงธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการสืบทอดการทำต้มยำกุ้งในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนเรื่องวัฒนธรรมการบริโภค นอกจากภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งนอกจากจะมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย ยังเป็นการสะท้อนเรื่องวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทย โดยมีข้าวเป็นอาหารหลัก รับประทานร่วมกันกับข้าว โดยคนในครอบครัวจะล้อมวงรับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน กินข้าวหม้อเดียวกัน กินแกงหม้อเดียวกัน ซึ่งแสดงถึงความผูกพันใกล้ชิดกันในครอบครัว
ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯ ซึ่งการเสนอ ต้มยำกุ้ง เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯ ของมนุษยชาติกับยูเนสโก นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยแล้ว ยังกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตน โดยจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในความหลากหลายของอาหารไทย รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาหารของไทยในระดับนานาชาติ ทั้งยังสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจอาหารไทย เกิดการสร้างงานและรายได้ให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบด้วย
อาหารเพื่อสุขภาพ ส่วนด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ต้มยำกุ้งถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะมีไขมันต่ำ และมีสรรพคุณจากเครื่องสมุนไพรช่วยบำรุงร่างกาย ปรับธาตุให้สมดุลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการหวัดได้
ต้มยำกุ้ง เป็นอาหารไทยภาคกลางประเภทต้มยำ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานไปทุกภาคในประเทศไทย เป็นอาหารที่รับประทานกับข้าวและมีรสเปรี้ยวและเผ็ดเป็นหลัก ผสมกับรสเค็มและหวานอีกเล็กน้อย ซึ่งจะแบ่งออกมาเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ต้มยำน้ำใส และต้มยำน้ำข้น
ซึ่งประวัติ ต้มยำกุ้ง นั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าจุดกำเนิดของอาหารนั้นเกิดขึ้นที่ใด แต่ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนถึง ต้มยำกุ้ง ไว้ว่า เมื่อรับข้าวจ้าวจากอินเดียเข้ามา พร้อมกับการค้าทางทะเลอันดามันและศาสนาพราหมณ์-พุทธ ทำให้ “กับข้าว” เปลี่ยนไปเริ่มมี “น้ำแกง” เข้ามาหลากหลาย ทั้งแกงน้ำข้นใส่กะทิแบบอินเดีย กับแกงน้ำแบบจีน
เครดิตภาพ : www.m-culture.go.th, www.happyfresh.co.th
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////